(Go: >> BACK << -|- >> HOME <<)

ข้ามไปเนื้อหา

ราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4
รูปปั้นแกะสลักของราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 ในเรติโรแห่งมาดริด ประเทศสเปน
เกิดค.ศ. 1114
โรเดซ
เสียชีวิต6 สิงหาคม ค.ศ. 1162 (48–49 ปี)
บอร์โกซันดัลมัซโซ
เมืองปีดมอนต์ ประเทศอิตาลี
สุสานซันตามาเรียเดริโปลล์
ตำแหน่งเคานต์แห่งบาร์เซโลนา
วาระ19 สิงหาคม ค.ศ. 1131 – 6 สิงหาคม ค.ศ. 1162
ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา
ผู้สืบตำแหน่งพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน
คู่สมรสเปโตรนิยาแห่งอารากอน
บุตรอินฟันเตเปโดร
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน
ราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 เคานต์แห่งพรอว็องส์
ดูลเซแห่งอารากอน พระราชินีแห่งโปรตุเกส
ซันโช เคานต์แห่งพรอว็องส์
ราโมน อาร์ชบิชอปแห่งนาร์โบนน์ (นอกสมรส)
บิดามารดาราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา
ดูลเซที่ 1 เคานเตสแห่งพรอว็องส์

ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 หรือ ราโมน เบเรงเกร์ผู้เป็นนักบุญ (สเปน: Ramon Berenguer el Sant) (ค.ศ. 1113 – 6 กันยายน ค.ศ. 1162) ดำรงตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1131 ถึง ค.ศ. 1162 เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งพรอว็องส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1144 ถึง ค.ศ. 1157 และปกครองเป็นเจ้าชายแห่งอารากอนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1137 ถึง ค.ศ. 1162


ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เป็นบุตรชายคนโตของราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 เขาสานต่อการทำสงครามครูเสดกับชาวมุสลิมอัลโมราวิดของบิดา หลังจากนั้นไม่นานราชอาณาจักรอารากอนร้องขอความช่วยเหลือจากราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เพื่อต่อกรกับราชอาณาจักรกัสติยา ในการเจรจาตกลง เขาได้รับการสัญญาว่าจะได้แต่งงานกับเปโตรนิยา พระธิดาของพระเจ้ารามิโรที่ 2 กษัตริย์อารากอน ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1137 และไม่กี่เดือนต่อมา ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พระเจ้ารามิโรที่ 2 สละราชสมบัติให้พระธิดาและพระชามาดา ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 จึงเป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนาคนสุดท้ายที่ใช้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งหลัก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1137 เขากลายเป็นผู้ปกครองของอารากอนด้วย (แม้ตัวเขาจะไม่เคยอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งกษัตริย์) ตั้งแต่รัชสมัยของพระโอรสของพระองค์ที่ใน ค.ศ. 1162 ได้สืบทอดตำแหน่งต่อเป็นพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 เคานต์แห่งบาร์เซโลนามีตำแหน่งกษัตริย์แห่งอารากอนเป็นตำแหน่งหลัก


ในตอนที่บิดาของราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เสียชีวิต เขาได้ยกเคานตีพรอว็องส์ให้บุตรชายคนเล็ก เมื่อบุตรชายคนดังกล่าวเสียชีวิต ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 ซึ่งเป็นพี่ชายได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปจนกระทั่งราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 เคานต์แห่งพรอว็องส์ ทายาทตามกฎหมายซึ่งเป็นหลานอาของราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในปี ค.ศ. 1157 เมื่อเคานต์แห่งพรอว็องส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1166 โดยไร้ทายาทเพศชาย พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน บุตรชายของราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 คือผู้สืบทอดตำแหน่งต่อ ราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 ได้สร้างอาณาเขตที่ชัดเจนให้ราชรัฐกาตาโลเนียด้วยการทำสงครามและพิชิตดินแดนต่างๆ มาจากชาวมัวร์ ได้แก่ ดินแดนตอร์โตซาในปี ค.ศ. 1148 เลริดา, มากีเนนซา และฟรากาในปี ค.ศ. 1149 และปราเดสกับซิวรานาในปี ค.ศ. 1153


ต้นกำเนิดของตระกูล

ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เป็นบุตรชายของราโมน เบเรงเกร์ที่ 3 กับดูลเซที่ 1 เคานเตสแห่งพรอว็องส์ จากทางฝั่งบิดาเขาเป็นหลานชายของราโมน เบเรงเกร์ที่ 2 กับมาฟัลดาแห่งอาปูเลีย และจากทางฝั่งมารดาเขาเป็นหลานชายของจิลแบต์แห่งแจวูด็องกับแจร์แบจแห่งพรอว็องส์


เมื่อบิดาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1131 เขาได้เคานตีบาร์เซโลนา ในขณะที่เบเรงเกร์ ราโมน น้องชายฝาแฝดได้พรอว็องส์ เขาเป็นอัศวินเทมพลาร์เหมือนบิดา[1][2]


วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1135 เขาไปเลออนเพื่อร่วมพิธีราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิแห่งสเปนของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ต่อหน้าผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาและขุนนางคนสำคัญในคาบสมุทรไอบีเรียและฝรั่งเศสใต้อันรวมถึงชาวมุสลิม

การแต่งงานกับเปโตรนิยาแห่งอารากอน


ภาพวาดของพระราชินีเปโตรนิยาแห่งอารากอนกับเคานต์ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 แห่งบาร์เซโลนา โดยมูเซโอ เดล ปราโดในปี ค.ศ. 1634

การสนับสนุนที่มีต่อพระเจ้ารามิโรที่ 2 แห่งอารากอนในการต่อกรกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนทำให้พระเจ้ารามิโรเสนอให้ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 แต่งงานกับเปโตรนิยา พระธิดาวัย 1 พรรษา


พิธีแต่งงาน (ที่อายุแตกต่างกันมาก) ถูกจัดขึ้นในแยย์ดาในเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ. 1150 วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1137 พระเจ้ารามิโรสละราชสมบัติให้พระชามาดาที่ไม่ได้เป็นกษัตริย์อย่างเต็มตัว แต่ครองตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งบาร์เซโลนาและเจ้าชายแห่งอารากอน (โดยมีพระราชินีคือเปโตรนิยา ภรรยาของเขา) ทำให้ราชอาณาจักรอารากอนกับเคานตีบาร์เซโลนาถูกรวมเข้าด้วยกัน


บทบาทของราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 นับตั้งแต่หมั้นหมายในปี ค.ศ. 1137 คือการเป็นผู้บริหารปกครองให้ราชวงศ์อารากอนในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของราชอาณาจักรอารากอน และออกเอกสารในฐานะเจ้าชาย ไม่ใช่กษัตริย์ เอกสารยังคงกล่าวถึงพระเจ้ารามิโรที่ 2 ว่าเป็น "ลอร์ด พระบิดา และกษัตริย์" และยังคงครองตำแหน่งกษัตริย์แห่งอารากอนไปจนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1157

สงครามครูเสดและสงครามอื่นๆ

ในช่วงปีกลางๆ ของการปกครอง ราโมน เบเรงเกร์มุ่งความสนใจไปที่การสู้รบกับชาวมัวร์ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1147 เขาช่วยกัสติยาพิชิตอัลเมเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามครูเสดครั้งที่สอง จากนั้นได้รุกรานดินแดนของไตฟาอัลโมราวิด ราชอาณาจักรบาร์เลนเซียและราชอาณาจักรมูร์เซีย เดือนธันวาคม ค.ศ. 1148 เขายึดตอร์โตซาได้หลังปิดล้อมอยู่สี่เดือนโดยมีผู้ทำครูเสดชาวฝรั่งเศสใต้, ชาวแองโกลนอร์มัน และชาวเจนัวให้การช่วยเหลือ[3] ปีต่อมาฟรากา, แยย์ดา และมากีเนนซาที่ติดกับแม่น้ำเซอเกรและแม่น้ำเอโบรแตกพ่ายให้แก่กองทัพของเขา


ราโมน เบเรงเกร์ยังสู้รบในพรอว็องส์ เพื่อช่วยเบเรงเกร์ ราโมน น้องชายของตน กับราโมน เบเรงเกร์ที่ 2 ผู้เป็นหลานอาต่อกรกับเคานต์แห่งตูลูส ในช่วงวัยเยาว์ของราโมน เบเรงเกร์ที่ 2 เคานต์แห่งพรอว็องส์ เคานต์แห่งบาร์เซโลนาได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพรอว็องส์ด้วย (ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1144 ถึง ค.ศ. 1157) ในปี ค.ศ. 1151 ราโมนลงนามในสนธิสัญญาตูดิเลนกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนและกัสติยา สนธิสัญญากำหนดพื้นที่ที่สามารถพิชิตได้ในอันดาลูเซียเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองทั้งสองขัดแย้งกัน

การเสียชีวิต

ราโมน เบเรงเกร์ที่ 4 เสียชีวิตในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1162 ในบอร์โกซันดัลมัซโซ เมืองปีดมอนต์ ประเทศอิตาลี ทิ้งตำแหน่งเคานต์แห่งบาร์เซโลนาไว้ให้ราโมน เบเรงเกร์ บุตรชายที่ยังมีชีวิตอยู่คนโตที่สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์แห่งอารากอนหลังเปโตรนิยาแห่งอารากอน พระมารดาของตนสละราชสมบัติในอีกสองปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1164 พระองค์เปลี่ยนชื่อเป็นอัลฟอนโซเพื่อแสดงความเป็นชาวอารากอน และกลายเป็นพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน เปโดร บุตรชายคนเล็กของราโมน เบเรงเกร์ได้รับมรดกเป็นเคานตีแซร์ดันยากับดินแดนทางเหนือของเทือกเขาพีรินี และเปลี่ยนชื่อเป็นราโมน เบเรงเกร์

อ้างอิง

  1. Damien Carraz and Alain Demurger, L'Ordre du Temple in the basse vallée du Rhône: 1124-1312: ordres militaires, crisades et sociétés méridionales , Presses Universitaires Lyon, 2005, p. 110
  2. Dominic Selwood, Knights of the Cloister: Templars and Hospitallers in Central-Southern Occitania, C.1100-C.1300 , Boydell & Brewer Ltd, 1999, p. 120
  3. Riley-Smith (1991) p.48.