ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

ภาพศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Thai NEWS PIX

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ชี้ขาดคำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ปม กกต.นำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขต

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติ คำร้องที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ซึ่ง กกต.คิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีโดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ต่อมามีผู้โต้แย้งและขอให้ผู้ร้อง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง นั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใดให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ว่า ได้เสนอแนะและแสดงความเป็นห่วงเรื่องของคนต่างด้าวในแต่ละพื้นที่ว่าจะรวมเป็นประชากรในเขตเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ทาง กกต. แจ้งว่าที่ผ่านมาได้รวมประชากรแรงงานต่างด้าวในเขตนั้น ๆ ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่า ต้องใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่รวมต่างด้าวไว้ด้วย ทั้งที่ความจริงมันแยกได้ เป็นคนไทยล้วน กับคนต่างด้าว

ในครั้งนั้นมือกฎหมายของรัฐบาลรายนี้ได้ขอให้ กกต. ขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญอีกทีว่า จะต้องรวมหรือไม่รวม

ภาพสภาผู้แทนราษฏร

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

กกต. ยืนยันไม่ส่งผลกระทบไทม์ไลน์เลือกตั้ง

กกต. ได้เตรียมความพร้อมภายหลังจากยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยพิจารณาวางแนวทางไว้ 2 ด้าน

  • การดำเนินการของ กกต.ในเบื้องต้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้ก็เดินหน้าต่อ
  • กรณีศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ นั่นเท่ากับ กกต. ต้องดำเนินการใหม่ในการคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนหลายฉบับรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจาก กกต. ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวน ส.ส. พึงมีในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นลดลง ในกรณีที่ศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ จากรายงานดังกล่าวระบุว่ามี 8 จังหวัดที่จะมีความเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น

  • จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. ลดลง มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก, เชียงราย, เชียงใหม่, และ สมุทรสาคร
  • จังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช, และปัตตานี

โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต