(Go: >> BACK << -|- >> HOME <<)

ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Rattakorn c (คุย | ส่วนร่วม)
Rattakorn c (คุย | ส่วนร่วม)
เปลี่ยน หมวดหมู่:การขนส่งมวลชน → หมวดหมู่:ระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย ด้วยสจห.
บรรทัด 430: บรรทัด 430:
[[หมวดหมู่:ธุรกิจขนส่ง]]
[[หมวดหมู่:ธุรกิจขนส่ง]]
[[หมวดหมู่:ระบบรถประจำทางในกรุงเทพมหานคร]]
[[หมวดหมู่:ระบบรถประจำทางในกรุงเทพมหานคร]]
[[หมวดหมู่:การขนส่งมวลชน]]
[[หมวดหมู่:ระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย]]


[[en:Bangkok Mass Transit Authority]]
[[en:Bangkok Mass Transit Authority]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:02, 3 กรกฎาคม 2554

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของกระทรวงคมนาคม
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
ประเภทรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง
จำนวนสาย118 เส้นทาง
ผู้โดยสารต่อวัน3 ล้านคนต่อวัน
ผู้อำนวยการนายโอภาส เพชรมุณี
สำนักงานใหญ่131 ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
การให้บริการ
เริ่มดำเนินงาน1 ตุลาคม พ.ศ. 2519
จำนวนขบวน3,526 คัน

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ชื่อย่อ: ขสมก อังกฤษ: Bangkok Mass Transit Authority - BMTA) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นโดย พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พุทธศักราช 2519 (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม) มีหน้าที่จัดบริการรถโดยสารประจำทาง เพื่อรับส่งประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร รวม 118 เส้นทาง มีจำนวนรถทั้งสิ้น 3,526 คัน (กันยายน พ.ศ. 2551) แบ่งเป็นรถธรรมดา 1,665 คัน รถปรับอากาศ 1,861 คัน และมีรถของบริษัทเอกชน ที่ร่วมวิ่งบริการ ทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศ จำนวน 3,535 คัน, รถมินิบัส จำนวน 1,067 คัน, รถเมล์เล็กในซอย จำนวน 2,325 คัน, รถตู้ จำนวน 6,504 คัน และรถตู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 415 คัน รวมทั้งสิ้น 17,372 คัน 463 เส้นทาง[1]

ประวัติ

ไฟล์:BMTA ClassicBus.jpg
ภาพรถประจำทางปรับอากาศ แสดงสัญลักษณ์ของ ขสมก ในระยะแรก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตราสัญลักษณ์ของระบบขนส่งมวลชนในประเทศอังกฤษ จึงต้องเปลี่ยนใหม่ในเวลาต่อมา

ความเป็นมาของกิจการรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ตามประวัติกล่าวว่า รถโดยสารประจำทาง ในสมัยก่อนเรียกว่า รถเมล์ เข้าใจว่า คงเรียกชื่อตามเรือเมล์ รถเมล์ที่มีครั้งแรกนั้น ใช้กำลังม้าลากจูง ไม่ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เป็นภาระเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการเช่นในปัจจุบัน โดยมีพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นผู้ริเริ่มกิจการรถเมล์ เมื่อราวปี พ.ศ. 2450 วิ่งระหว่างสะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึกในปัจจุบัน) ถึงประตูน้ำสระปทุม แต่เนื่องจากใช้ม้าลาก จึงไม่รวดเร็วทันใจ และไม่สามารถให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 พระยาภักดีนรเศรษฐ จึงได้ปรับปรุงกิจการใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินรถ โดยนำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด มาวิ่งแทนรถม้าลาก และขยายเส้นทางให้ไกลขึ้น จากประตูน้ำสระปทุม ถึงบางลำพู (ประตูใหม่ตลาดยอด)

รถยนต์ที่ใช้เป็นรถโดยสารประจำทางครั้งแรก มี 3 ล้อ ขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน มีที่นั่ง 2 แถว ทาสีขาว มีรูปกากบาทสีแดงอยู่ตอนกลางรถ นั่งได้ประมาณ 10 คน ชาวพระนครสมัยนั้นเรียกว่า อ้ายโกร่ง เพราะจะมีเสียงดังโกร่งกร่าง เมื่อวิ่งไปตามท้องถนน ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย การเดินรถเมล์ก็ขยายตัวอย่างกว้างขวางออกไปทั่วกรุงเทพฯ ในนามของ บริษัท นายเลิศ จำกัด (บริษัทรถเมล์ขาว) การประกอบกิจการเดินรถเมล์เริ่มขยายตัวขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พุทธศักราช 2475 พร้อมทั้งจัดสร้างสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนคร และธนบุรี ไวเป็นอนุสรณ์ของงานสมโภชครั้งนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กิจการรถเมล์เริ่มเป็นปึกแผ่น มีเศรษฐีชาวจีนเล็งเห็นว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง และทำรายได้ดีอย่างหนึ่ง จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ธนนครขนส่ง จำกัด ขึ้น เพื่อประกอบกิจการเดินรถเมล์ จากตลาดบางลำพู ถึงวงเวียนใหญ่ หลังจากนั้น ได้มีผู้ลงทุนตั้งบริษัทเดินรถเมล์เพิ่มขึ้นถึง 24 แห่ง นอกจากนี้ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ อย่างเทศบาลนครกรุงเทพ, เทศบาลเมืองนนทบุรี, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ก็เปิดเดินรถเมล์ด้วย โดยในขณะนั้น มีผู้ประกอบการเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ รวมถึง 28 ราย

หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง หน่วยราชการต่างๆ จำหน่ายรถบรรทุกออกมาให้เอกชนเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งนำมาดัดแปลงเป็นรถ เมล์ ทั้งนี้ บริษัทเอกชนยังเลือกเส้นทางเดินรถเอง ที่ไม่ซ้ำกับเส้นทางที่มีรถรางวิ่งอย่างเสรี จึงก่อให้เกิดระบบแข่งขันทางธุรกิจขึ้น รัฐบาลจึงได้ออก พระราชบัญญัติการขนส่ง พุทธศักราช 2497 มาใช้ควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถเมล์ ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย

ในระยะหลัง การให้บริการรถเมล์เริ่มเกิดความสับสน มีการเดินรถทับเส้นทางกันบ้าง แก่งแย่งผู้โดยสารกันบ้าง การให้บริการของแต่ละบริษัท ก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยให้มีการเดินรถอย่างเสรี ทำให้เกิดปัญหาการจราจรคับคั่ง เนื่องจากจำนวนรถในท้องถนน มีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผลเสียทั้งหมด ล้วนตกอยู่กับผู้ใช้บริการทั้งสิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา แต่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้เพิ่มขึ้น ในอัตราที่สมดุลกับราคาน้ำมันได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มประสบปัญหาขาดทุน บางบริษัทก็มีฐานะทรุดลง จนไม่สามารถรักษาระดับบริการที่ดีแก่ประชาชนต่อไปได้

ต่อมา ราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 คณะรัฐมนตรีสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติให้รวมกิจการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครเป็นบริษัทเดียว เรียกว่า บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ในรูปรัฐวิสาหกิจ ประเภทบริษัทจำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ระหว่างรัฐและเอกชน เป็น 51 ต่อ 49% แต่เกิดปัญหาข้อกฎหมายการจัดตั้ง ในรูปแบบของการประกอบกิจการขนส่ง

ดังนั้น ในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นองค์การของรัฐ ให้ชื่อว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยควบรวมกิจการรถโดยสารประจำทางทั้งหมด จากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจ และขอบเขตความรับผิดชอบ ในการจัดบริการรถโดยสารประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดคือ นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม และนครปฐม โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับการประกอบการขนส่งบุคคล

และเนื่องจากการเดินรถโดยสารประจำทาง เป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่ง ที่รัฐจัดเป็นบริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินงานจึงมุ่งสนองนโยบายรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไร การจัดเก็บค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง ตามที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย การให้บริการของ ขสมก มุ่งหมายให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินรถของผู้โดยสารเป็นหลัก[2]

ตราสัญลักษณ์

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ใช้ตราสัญลักษณ์มาแล้วสองรูปแบบ กล่าวคือ นับแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 องค์การฯ ใช้ตราสัญลักษณ์ เป็นภาพวงกลมที่มีเส้นรอบวงเป็นสีแดงขอบหนา มีป้ายรูปหกเหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มคาดทับ ตามแนวขวางในส่วนกลางของวงกลม บนป้ายมีอักษรสีขาว เป็นชื่อเต็มขององค์การฯ คือ "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" ซึ่งใช้มาจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 จึงเปลี่ยนไปใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งเริ่มปรากฏบนรถโดยสารบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เป็นภาพวงรีสีเขียว ปลายทั้งสองวางตามแนวบนขวาไปล่างซ้าย มีอักษรย่อขององค์การฯ คือ "ขสมก" สีน้ำเงิน ลักษณะเอนไปทางขวา คาดทับตามแนวขวางในส่วนกลางของวงรี หลังจากนั้น องค์การฯ ก็เร่งทยอยเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ที่แสดงบนรถโดยสาร จนราวต้นปี พ.ศ. 2536 จึงดำเนินการแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ และใช้ตราสัญลักษณ์รูปแบบดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน[3]

เส้นทางที่ให้บริการ

ในปัจจุบัน เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ได้แก่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร โดยแบ่งออกเป็น เขตการเดินรถต่างๆ จำนวน 8 เขต

อัตราค่าโดยสาร

การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารของ ขสมก นั้น มีการจัดเก็บอยู่ 2 แบบ โดยอัตราค่าโดยสารที่ใช้ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเป็นผู้กำหนดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมในการบริการพิเศษ เช่น รถที่ใช้ทางพิเศษ หรือ รถบริการตลอดคืน[1]

การจัดเก็บค่าโดยสารแบบอัตราเดียวตลอดสาย

การจัดเก็บค่าโดยสารแบบอัตราเดียวตลอดสายนี้ จะใช้สำหรับการโดยสารรถประจำทางสีครีม-แดง และรถโดยสารประจำทางสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางธรรมดา

  • รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง - จัดเก็บค่าโดยสาร 7 บาทตลอดสาย
  • รถโดยสารประจำทางสีขาว-น้ำเงิน - จัดเก็บค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย

การจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง

ตารางค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) สายที่ 80 เที่ยวไปสนามหลวง

การจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง จะใช้สำหรับการโดยสารรถประจำทางปรับอากาศทุกประเภท โดยที่จะไม่มีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติม

  • รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีครีม-น้ำเงิน - จัดเก็บค่าโดยสาร 11-19 บาท ตามระยะทาง
  • รถโดยสารประจำทางปรับอากาศขาว-เขียว-แดง (รถพ่วงปรับอากาศ) - จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง อัตราระหว่าง 11-19 บาท
  • รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีขาว-เขียว-น้ำเงิน (รถใช้ก๊าซธรรมชาติ) - จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง อัตราระหว่าง 11-19 บาท
  • รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) - จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง อัตราระหว่าง 12-24 บาท
  • รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง สายที่ 134 - จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ตามอัตราสำหรับรถโดยสารหมวด 3 และ 4 สำหรับการโดยสารในเขตจังหวัดนนทบุรี
  • รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง สายที่ 145 - จัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ตามอัตราสำหรับรถโดยสารหมวด 3 และ 4 สำหรับการโดยสารในเขตจังหวัดสมุทรปราการ

ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการพิเศษ สำหรับรถโดยสารธรรมดาไว้ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมรถโดยสารที่ใช้ทางพิเศษ - จัดเก็บเพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 2 บาท
  • ค่าธรรมเนียมรถโดยสารบริการตลอดคืน - จัดเก็บเพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 1.50 บาท
  • ค่าธรรมเนียมรถโดยสารเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ บรมราชชนนี - จัดเก็บเพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 2 บาท

เงื่อนไขการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าโดยสารรถโดยสารประจำทาง

ผู้ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร

  • ผู้ตรวจการขนส่ง
  • พระภิกษุ สามเณร
  • บุรุษไปรษณีย์ในเครื่องแบบ (ขณะปฏิบัติหน้าที่)
  • ผู้ถือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  • ผู้ถือบัตรหรือเหรียญตราของทางราชการ ที่ระบุไว้ว่ามีสิทธิยกเว้นค่าโดยสารประจำทาง

ผู้ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารครึ่งราคา

ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์(ธรรมดา) ของ ขสมก. มีสิทธิได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารได้ในอัตราครึ่งราคา สำหรับบุคคลดังต่อไปนี้

  • คนตาบอด ที่มีหนังสือรับรองของสมาคมคนตาบอด
  • ทหาร ตำรวจ ในเครื่องแบบ
  • ผู้ถือบัตรหรือเหรียญตราของทางราชการที่มีระเบียบระบุไว้ว่า มีสิทธิได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารรถประจำทางครึ่งราคาเสียค่าโดยสารครึ่งราคา ดังนี้
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญชัยสมรภูมิ และทายาท
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญราชการชายแดน
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญพิทักษ์เสรีชน
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการชั้นที่ 1 2 3 และ 4
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวครอบครัวทหารผ่านศึก บัตรชั้นที่ 1
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวครอบครัวทหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการสนาม กรณีไปทำการรบในงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป กรณีพิพาทกับอินโดจีน กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา กรณีสงครามเกาหลี และกรณีสงครามเวียดนาม
    • ผู้ถือบัตรประจำตัวครอบครัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 1
  • ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 แสดงบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อมาใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรถของผู้ประกอบการ ที่เดินรถร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ราคาบัตรเดือนสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา

  • นักเรียนในเครื่องแบบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ลงมา ให้เสียค่าโดยสาร 1 ใน 3 ของค่าโดยสารปกติ โดยให้ซื้อบัตรเดือนในอัตราค่าโดยสารเที่ยวเดียว คูณด้วย 44 สำหรับการโดยสารที่ไม่รวมวันเสาร์และวันอาทิตย์ หรือคูณด้วย 52 สำหรับการโดยสารที่ไม่รวมวันอาทิตย์ ไป 1 เที่ยวต่อวัน เศษของเดือนให้คำนวณตามส่วน
  • นักเรียนในเครื่องแบบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบ หรือแสดงบัตร โดยใช้บัตรเดือนให้เสียค่าโดยสาร 2 ใน 3 และให้ใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัตรเดือนตามข้อ 1

ค่าโดยสารครึ่งราคารวมค่าธรรมเนียมรถปรับอากาศธรรมดา (ครีม - น้ำเงิน / รถเมล์พ่วงสีขาว / รถเมล์ขาวใข้ก๊าซธรรมชาติ)

ค่าโดยสารรวม ค่าธรรมเนียม(บาท) ค่าโดยสารครึ่งราคา รวมค่าธรรมเนียม(บาท)
11 บาท 8 บาท
13 บาท 9 บาท
15 บาท 11 บาท
17 บาท 12 บาท
19 บาท 13 บาท

ค่าโดยสารครึ่งราคารวมค่าธรรมเนียมรถปรับอากาศยูโรทู (สีส้ม)

ค่าโดยสารรวม ค่าธรรมเนียม(บาท) ค่าโดยสารครึ่งราคา รวมค่าธรรมเนียม(บาท)
12 บาท 8 บาท
14 บาท 10 บาท
16 บาท 11 บาท
18 บาท 13 บาท
20 บาท 14 บาท
22 บาท 15 บาท
24 บาท 17 บาท

รถโดยสารที่ให้บริการในปัจจุบัน

รถโดยสารประจำทางธรรมดา สีครีม-แดง

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Hino AK176 1, 3, 4, 5 499 + 4*
(ตัดบัญชี 4 คัน)
ข-40xxx 34
Isuzu MT111QB 1, 6, 7, 8 540 + 2*
(ตัดบัญชี 4 คัน)
ข-50XXX 34
Mitsubishi Fuso RP118 2, 4, 8 510 + 3*
(ตัดบัญชี 3 คัน)
ข-80XXX 34

หมายเหตุ + ตัวเลข* หมายถึงจำนวนรถสำรองวิ่ง (รถสแปร์) ในรุ่นนั้นๆ


รถโดยสารประจำทางธรรมดา สีขาว-เขียว

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Mercedes-Benz OH360i 5, 6 80 ข-303XX 32 ไฟล์:PICZ 019.jpg
Hino AK176 5 41 5-40XXX 34

รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีครีม-น้ำเงิน

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Isuzu CQA650 A/T 1,7,8 100 ข-30XX 46
Hino HU3KKSKL 2 80 + 1* 2-40XX 50
Mercedes-Benz OF1617 1, 2, 3, 5, 6, 8 200 ข-6XXX 50

หมายเหตุ + ตัวเลข* หมายถึงจำนวนรถสำรองวิ่ง (รถสแปร์) ในรุ่นนั้นๆ


รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีขาว-เขียว-แดง (รถพ่วงปรับอากาศ)

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Mercedes-Benz O405G 3 52
(ตัดบัญชี 1 คัน)
3-90XX 60

รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีขาว-เขียว-น้ำเงิน (ใช้ก๊าซธรรมชาติ)

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Mercedes-Benz O405 1 38
(ตัดบัญชี 4 คัน)
1-10XX 46
MAN ไม่ระบุ 1 1 (ทดลองวิ่ง) 1-2018 44

รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีส้ม (ยูโรทู)

ยี่ห้อ รุ่น เขตการเดินรถที่ให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ หมายเลขข้างรถ จำนวนที่นั่ง ภาพประกอบ
Hino RU1JSSL 1, 2, 3, 4 200 + 2*
(ตัดบัญชี 2 คัน)
ข-44XXX 35
Hino RU1JSSL 1, 3, 4 125 + 1* ข-45XXX 35
Isuzu LV223S 1, 5, 6, 7, 8 200 + 1* ข-55XXX 35
Isuzu LV423R 5, 6, 7, 8 125 ข-56XXX 35
Mercedes-Benz OH1829/63 1, 2, 3, 5, 6 397 + 3*
(ตัดบัญชี 5 คัน)
ข-66XXX 35
Deawoo BH115 1, 5, 8 250 + 1*
(ตัดบัญชี 1 คัน)
ข-67XXX 35

หมายเหตุ + ตัวเลข* หมายถึงจำนวนรถสำรองวิ่ง (รถสแปร์) ในรุ่นนั้นๆ

หมายเลขข้างรถโดยสาร

รถโดยสารของ ขสมก ทุกคันจะมีหมายเลขข้างรถติดอยู่ โดยจะมีอยู่ 4 แห่ง สำหรับรถโดยสารปรับอากาศ และ 5 แห่ง สำหรับรถโดยสารธรรมดา

  • รถโดยสารปรับอากาศ
  1. กันชนหน้า
  2. กระจกรถด้านซ้าย
  3. กระจกรถด้านขวา
  4. กระจกรถด้านหลัง
  • รถโดยสารธรรมดา
  1. กันชนหน้า
  2. ตัวถังรถด้านซ้าย
  3. ตัวถังรถด้านขวา
  4. กระจกรถด้านหลัง
  5. กันชนหลัง

ความหมายของหมายเลขข้างรถ

  • รูปแบบที่ 1 (แบบ 4 หลัก) : ข-AXXX
    • “ข” คือเขตการเดินรถที่รถสังกัดอยู่
    • “A” คือรุ่นของรถ (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ รถโดยสารที่ให้บริการในปัจจุบัน)
    • “XXX” คือ ลำดับที่ของรถ
    • เช่น 7-3077 มีความหมายว่า รถโดยสารคันดังกล่าว สังกัดอยู่เขตการเดินรถที่ 7 เป็นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีครีม-น้ำเงิน ยี่ห้อ Isuzu รุ่น CQA650 A/T คันที่ 77
  • รูปแบบที่ 2 (แบบ 5 หลัก) : ข-AAXXX
    • “ข” คือ เขตการเดินรถที่รถสังกัดอยู่
    • “AA” คือ รุ่นของรถ (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ รถโดยสารที่ให้บริการในปัจจุบัน)
    • “XXX” คือ ลำดับที่ของรถ
    • เช่น 2-66397 มีความหมายว่า รถโดยสารคันดังกล่าว สังกัดอยู่เขตการเดินรถที่ 2 เป็นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) ยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น OH1829/63 คันที่ 397

บริการสถานีวิทยุบนรถประจำทาง (บัสซาวนด์)

ในอดีต โครงการบัสซาวนด์ ดำเนินงานโดย บริษัท อาร์เอ็นที เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในการติดลำโพงบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก และกระจายเสียงจากคลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็ม 88.0 เมกะเฮิรตซ์ เรดิโอโนพร็อบเบลม (ชื่อขณะนั้น) ที่ดำเนินการโดย บริษัท เอไทม์ มีเดีย จำกัด ในเครือแกรมมี่ โดยได้รับสัมปทานจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แต่ประสบปัญหาขาดทุน บริษัท เอไทม์ มีเดีย จำกัด จึงถอนตัวไป และในเวลาต่อมา จึงเปลี่ยนคลื่นความถี่ออกอากาศ มาเป็นระบบเอฟเอ็ม 103.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่ บริษัท คลิก วีอาร์วัน จำกัด รับสัมปทานมาจาก สถานีวิทยุกระจายเสียง ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ต่อมาทาง Click Radio ได้ทำการเจรจาขอเวลาเพิ่มจากกองทัพบก โดยงดถ่ายทอดสดรายการภาคบังคับได้แก่ รายการสยามานุสติ(06.45-07.00 น.) และรายการใต้ร่มธงไทย(18.00-19.00 น.) ทำให้มีเวลาออกอากาศเพิ่มเติมอีก 1.15 ชั่วโมง ซึ่งในระยะ 1-2 ปีแรกมีเกมลุ้นโชคจากเลขหน้าตั๋วของรถเมล์ ขสมก. อีกด้วย แต่ในปัจจุบัน ยกเลิกโครงการไปแล้ว

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 การบริการ จากเว็บไซต์ ขสมก
  2. ประวัติ ขสมก จากเว็บไซต์องค์การฯ
  3. ข้อมูลจากผู้ใช้ JoKubPom ในกระทู้ อยากทราบเกี่ยวกับโลโก้ ขสมก จากเว็บบอร์ดบางกอกบัสคลับ

แหล่งข้อมูลอื่น